พ.ศ. 2504 ป่าสาธิตทดลอง
     เมื่อไม่สามารถดำเนินการปกปักต้นยางนาที่อำเภอท่ายางได้ จึงทรง ทดลองปลูกต้นยางเอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอ ท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกต้น ยางนาเหล่านั้นในแปลงทดลองใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา พร้อมข้าราช- บริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2504 จำนวน 1,250 ต้นแม้ต้นยางที่ท่ายางสูญสิ้น แต่พันธุกรรมของยางนาเหล่านั้นยังอนุรักษ์ ไว้ได้ที่สวนจิตรลดา
     ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภาคต่างๆ ทั่ว ประเทศ มาปลูกในบริเวณที่ประทับ สวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ ของนิสิตนักศึกษาแทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ
พ.ศ. 2528 ทรงใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออนุรักษ์พืช
     ในวันพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โครงการส่วน พระองค์ฯ สวนจิตรลดา และทรงมีพระราชกระแสให้อนุรักษ์ต้นขนุนหลังพระตำหนัก ไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
      ความสำเร็จของการใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชขยายพันธุ์ขนุนไพศาล ทักษิณ นำไปสู่การขยายพันธุ์ต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ พระราชวังต่างๆ แล้วอนุรักษ์พันธุ์ไม้อีกหลายชนิด ได้แก่พุดสวน มณฑา ยี่หุบ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง และสมอไทยในพระที่นั่งอัมพรสถานมงคล ในขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมของพืชเอกลักษณ์ใน สภาวะปลอดเชื้อในอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต จนทำให้เก็บรักษาเนื้อเยื่อขนุนที่อุณหภูมิ –196 องศาเซลเซียส ในไนโตรเจนเหลว มีเนื้อเยื่อขนุนที่รอดชีวิตอยู่ได้ 23 เปอร์เซ็นต์
พ.ศ. 2529 ทรงให้อนุรักษ์พันธุกรรมหวาย
     ทรงมีพระราชดำริให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์หวายชนิดต่างๆ โดยการ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาการขาดแคลนหวายในอนาคต หวายที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นเป้าหมาย คือหวายข้อดำ หวายน้ำผึ้ง หวายตะค้าทอง หวายหอม หวายแดง หวายโป่ง หวายกำพวน หวายงวย และหวายขี้เสี้ยน เมื่อขยายพันธุ์ได้ต้นที่สมบูรณ์ของหวายข้อดำและหวาย ตะค้าทองแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการทดลองปลูกต้นหวาย เหล่านั้นในป่ายางนาใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา และมีพระราชดำริให้ ทดลองปลูกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษา การพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนครอีกด้วย
     การดำเนินการเกี่ยวกับหวายได้มีการขยายผลไปสู่ความร่วมมือระหว่างโครงการ ส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง กับส่วนราชการจังหวัดตรัง จัดทำแปลงขยายพันธุ์หวายขึ้นในพื้นที่ 1,000 ไร่ ที่ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อปี พ.ศ. 2532 และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์หวายชนิด ต่างๆ ของประเทศไทยแล้วยังได้ใช้เป็นสถานศึกษาวิจัยและขยายพันธุ์หวาย เศรษฐกิจเพื่อให้ผลประโยชน์ถึงประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย
พ.ศ. 2529 สวนพืชสมุนไพร
     ในปี พ.ศ. 2529 นอกจากมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุ์หวายแล้ว ยังได้จัดทำสวนพืชสมุนไพรขึ้นในโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เพื่อรวบรวม พืชสมุนไพรมาปลูกเป็นแปลงสาธิต และรวบรวมข้อมูลสรรพคุณ ตลอดจนการนำไป ใช้ประโยชน์กับทั้งให้มีการศึกษาการขยายพันธุ์พืชสมุนไพร โดยการเพาะเลี้ยง เนื้อเยื่อ และเผยแพร่ความรู้ที่ได้สู่ประชาชน
 
มิถุนายน ๒๕๓๕ พระราชทานให้กับ เลขาธิการพระราชวัง
     เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้อนุรักษ์พืชพรรณของประเทศและดำเนินการเป็นธนาคารพืชพรรณ
     โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เริ่มดำเนินการ โดยฝ่ายวิชาการโครงการส่วนพระองค์ฯ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้นสำนักงานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้นในปี ๒๕๓๖ สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ดและเนื้อเยื่อ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานทุกกิจกรรมของโครงการ พ.ศ ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน
     ทรงมีพระราชปรารภพระราชดำริ และพระราชทานแนวทางการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชกับนายพิศิษฐ์ วรอุไร และนายพรชัย จุฑามาศ ในพระราชวโรกาสต่างๆ สรุปดังนี้
วันที่ ๘ กุมภาพันธุ์ ๒๕๓๖ ณ อาคารที่ประทับ ในสำนักงานชลประทาน เขต ๑ ถนนทุ่งโฮเต็ล จังหวัดเชียงใหม่
- ทรงมีพระราชปรารภถึงการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ทรงเห็นมีพันธุ์ไม้เก่าๆ อยู่มาก เช่น ทุเรียนบางพันธุ์อาจยังคงมีลักษณะดีอยู่แต่สวนเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพไปจึงทรงห่วงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นจะหมดไป
- พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรอนุรักษ์พันธุ์ที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจไว้ด้วย
- ตามเกาะต่างๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย
- พระราชทานแนวทางการสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรใช้วิธีการปลูก ฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณ และเกิดความปิติที่จะทำการศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสียเกิด อันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว
- ทรงมีพระราชดำริให้ทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า
วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก จังหวัดตาก
- พระราชทานแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
- การนำต้นไม้มาปลูกเพิ่มเติมให้เด็กรู้จักนั้น ต้องไม่มีพืชเสพติด
- ควรให้เด็กหัดเขียนตำรา จากสิ่งที่เรียนรู้จากสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
- ควรนำตัวอย่าง ดิน หิน แร่ มาแสดงไว้ในห้องพิพิธภัณฑ์พืชด้วย เพราะในจังหวัดตากมีหินแร่อยู่มากชนิด
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๙ ณ เขาเสวยกะปิ ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อำเภอ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
- ทรงให้อนุรักษ์ต้นหว้าใหญ่ในบริเวณวังไกลกังวล หัวหิน ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นต้นหว้าที่ขึ้นอยู่ที่นั่นก่อนก่อสร้างวัง
- ทรงให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ดำเนินการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่เกาะละวะ จังหวัดพังงา
- ทรงให้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนรหัสต้นพืชที่ขึ้นอยู่เดิม ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- ทรงให้วัดพิกัดตำแหน่งของต้นพืชที่ขึ้นทะเบียนไว้
- ทรงให้รวบรวมพันธุกรรมหวายชนิดต่างๆ
- ทรงให้มีการปลูกรักษาพันธุกรรมพืชไว้ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
     ทรงให้หาวิธีดำเนินการให้มีข้อมูลที่จะได้รู้ว่าใครทำอะไรเกี่ยวกับพันธุกรรมพืชของหน่วยงานต่างๆให้สื่อถึงกันในระบบเดียวกันได้
     ทรงให้หาวิธีการที่จะทำให้เด็กสนใจในพืชพรรณต่างๆ และเกิดความสงสัยตั้งคำถามตนเองเกี่ยวกับพืชพรรณที่ตนสนใจนั้นซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาทดลองค้นคว้าวิจัยอย่างง่ายๆ ที่โรงเรียนที่ไม่มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ดีนัก ก็สามารถดำเนินการได้ หากอาจารย์ในโรงเรียนต่างๆ ทำได้ดังนี้ ก็จะช่วยให้เด็กเป็นคนฉลาด
พระราโชวาท วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ ในการประชุมวิชาการนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : อนุรักษ์และพัฒนาด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
     งานการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชนี้ได้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีเริ่มตั้งแต่ที่เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหาพรรณพืชต่างๆ ที่หายากมาปลูกเอาไว้เพื่อคนรุ่นหลังจะได้เห็นได้ศึกษาต่อไป และก็มีงานด้านวิชาการต่างๆ ที่ ทำกัน ที่จริงแล้วในประเทศไทยนี้ก็มีหน่วยงานหลายหน่วยที่สนใจในเรื่องของ การอนุรักษ์พันธุ์พืชเพื่อการศึกษาพืชพรรณต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศโครงการนี้ มีจุดประสงค์สำคัญที่จะให้หน่วยงานต่างๆ ที่ได้ทำงานมาได้มีโอกาสแลก เปลี่ยนความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน รวบรวมข้อมูล เพื่อทำ ให้วิชาการด้านนี้ก้าวหน้าไปและเป็นการประหยัดเพราะแทนที่ต่างคนต่างทำ งานไหนที่มีผู้ทำแล้วจะได้ร่วมกันทำโดยไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และก็ปรากฎว่ามีผู้มา สนับสนุนหลายท่านทั้งในด้านวิชาการ ด้านอุปกรณ์ต่างๆ และทุนทรัพย์ก็นับ ว่างานนี้เป็นที่สนใจของบุคคลหลายฝ่าย ในวันนี้ที่ได้มีการมอบฐานข้อมูลทาง ด้านพืชให้หน่วยงานต่างๆ นั้น ความเป็นมาก็มีอยู่ที่ก่อนนี้ในหน่วยงานต่างๆ มีหอพรรณไม้ เช่นที่กรมป่าไม้ หอพรรณไม้ของกรมป่าไม้ก็มีพืชที่นักวิชาการ นักวิจัย รุ่นเก่าๆ ได้เก็บตัวอย่างพรรณพืชแห้ง เก็บไว้เป็นเวลาเกือบจะร้อยปีแล้ว ตัวอย่างของพรรณไม้เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีค่าสูง จะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา แต่ว่าของต่างๆ นั้นก็ย่อมเก่าแก่ไปตามกาลเวลา จะเสียหายอย่างน่าเสียดาย ในสมัยนี้เรามีเทคโนโลยีที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้นักวิชาการได้ศึกษากัน ได้ก็เลยได้คิด ช่วยกันทำโครงการในการถ่ายรูปและถ่ายข้อมูลพรรณไม้ เพื่อเป็นฐานข้อมูล แต่ ในเมื่อในการเก็บฐานข้อมูลนี้ถ้าเก็บไว้แห่งเดียวก็อาจจะ สูญหายได้ ก็มีความคิดกันว่าจะให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยกันเก็บที่หนึ่งเกิดเหตุ เสียหายไปก็จะได้มีข้อมูลเอาไว้ ไม่สูญหายไปจากประเทศไทย หรือจากโลกนี้ ไปหมด ฐานข้อมูลนี้ก็เป็นของที่มีค่า ต้องช่วยกันดูแลให้ดี และผู้ที่จะมาใช้ก็ต้อง ดูแล ใช้ให้ถูกต้องให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยแก่มนุษย์ชาติต่อไป โครงการแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะทำสำเร็จในเวลาสั้นๆ ต้องมีโครงการระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง และระยะต่อๆ ไป การจัดการประชุมนี้ก็เป็นการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและ เพิ่มพูนความรู้ในระดับนักวิชาการและการจัดนิทรรศการนี้ ก็จะมีโอกาสให้ คนอื่นที่สนใจได้มาดู ได้มาศึกษาเมื่อบุคคลต่างๆ ได้มาศึกษา แล้วก็ทราบว่าพืชต่างๆ และก็ต่อไปก็ต้องการศึกษาเรื่องสัตว์สิ่งมีชีวิตและสิ่งธรรมชาติต่างๆ ของพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เมื่อสนใจแล้วก็จะมีความรู้สึก อยากจะปกปักรักษา ไม่ทำลายให้เสียหายสูญสิ้นไป ก็เป็นการช่วยอนุรักษ์เป็น อย่างดี ขอให้ทุกๆ ท่านประสบความสำเร็จใน การทำงานและให้การประชุมใน ครั้งนี้ดำเนินไปด้วยดี
พระราโชวาท วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2548 ในวโรกาสปิดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชคลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
     ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่งในวันนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดำเนินงานมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 12 โครงการฯ ร่วมแรงร่วมใจกับหน่วยงานและสถานศึกษา หลายหน่วยงาน หลายสถาบัน ปฏิบัติงานด้านศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์พืชต่างๆ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และรวบรวมผลการศึกษาวิจัยไว้เป็นหลักฐาน เป็นศูนย์รวมข้อมูลทางพันธุกรรมพืชที่สถาบันการศึกษาต่างๆ และผู้สนใจสามารถเข้าร่วมใช้ฐานข้อมูลได้ ปัจจุบันงานของโครงการฯ มิได้จำกัดเพียงศึกษาอนุรักษ์พันธุ์พืชเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปถึงการศึกษาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย เช่น ดิน หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกัน สิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดไปก็จะกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาติและประชาชน นอกจากศึกษาสภาวะของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว การให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเหมาะสม วิธีสงวนรักษา เพื่อทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างยั่งยืนตลอดไป การประชุมครั้งนี้มี คณาจารย์ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และเกษตรกรจำนวนมาก เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็น ข้าพเจ้าหวังว่าทุกท่าน จะได้รับประโยชน์จากการประชุมโดยทั่วกัน